เมื่อคนและหุ่นยนต์ประสาน ทำงานร่วมกัน (Human-Bot Collaboration)

สวัสดีปีใหม่ 2565 ครับ

ประเด็นหนึ่งที่มักถูกนำมาพูดคุยเวลาที่ทีมงานเราได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับลูกค้าหรือผู้ที่มีความสนใจในการนำระบบ RPA เข้ามาใช้ในองค์กรคือ โรบอทสามารถทำงานแทนคนได้แค่ไหน ทำได้หมดเลยหรือแค่บางส่วน ผมคิดว่าเรื่องนี้น่าจะมีประโยชน์ถ้านำมาเล่าในบทความนี้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าเราสามารถแยกประเภทของโรบอทตามรูปแบบของการทำงานได้ 2 แบบคือ 

  • Attended
  • Unattended

โรบอทประเภท attended ที่ทำงานเหมือนเลขาส่วนตัวของเรา ติดตั้งอยู่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเอง โดยมีตัวเราเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทำงานต่างๆแทนเรา เช่น ร้บส่งอีเมล ทำรายงาน นำข้อมูลเข้าระบบ เป็นต้นและโรบอทประเภท unattended ที่ทำงานได้เองโดยไม่ต้องมีคนสั่ง โดยมากมักเป็นงานในฝั่ง back office เช่นบัญชี ออกสัญญาเช่าซื้อ ออกกรมธรรม์ ที่มีปริมาณมาก ใช้เวลานานในการทำ โดยอาจนานกว่าขั่วโมงการทำงานปกติของผู้ที่เป็นพนักงาน 

เรายังสามารถนำโรบอททั้งประเภท attended และunattended เข้ามาทำงานร่วมกันเกิดเป็นกระบวนการทำงานที่เรียกว่า hybrid ที่มีคนสั่งงานโรบอท attended ทำงาน โดยมีโรบอทประเภท unattended ทำงานบางอย่างอยู่เบื้องหลัง

คำถามที่ว่าโรบอทสามารถทำงานแทนคนได้แค่ไหน หรือคนสามารถทำงานร่วมกับโรบอทได้แค่ไหน สามารถอธิบายด้วยรูปแบบการทำงานหรือ scenario ดังต่อไปนี้ครับ

รูปแบบการทำงานแบบแรก คือการที่โรบอทประเภท unattended ทำงานเองทั้งหมดหรือที่เรียกว่า “fully automated” โดยโรบอทหนึ่งตัวหรือมากกว่าหนึ่งตัวจะถูกติดตั้งบนเครื่อง back office server ซึ่งมีเจ้าหน้าที่แอดมินเป็นผู้จัดสรรทรัพยากรต่างๆ เช่น workload ตามจำนวนโรบอทที่มี หรือ schedule การทำงานของโรบอทแต่ละตัวให้สอดคล้องกับกระบวนการทำงาน

ตัวอย่างของกรณีนี้เช่น บริษัทชั้นนำด้านการเงินแห่งหนึ่งต้องมีการรวบรวมข้อมูลด้านยอดขายจากหน่วยธุรกิจและสาขาของบริษัทในแต่ละประเทศ โดยดึงจากระบบแอบพลิชั่นองค์กรอย่างระบบ CRM, ระบบ ERP รวมทั้งฐานข้อมูลด้านการขายทั้งหมด แล้วนำมาจัดเป็นหมวดหมู๋ เรียงลำดับ ตรวจสอบความถูกต้องสำหรับทำเป็นเวอร์ชั่นสุดท้ายก่อนนำส่งให้ผู้บริหารระดับสูง

การทำงานรูปแบบนี้ โรบอทประเภท Unattended สามารถทำงานได้เองทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ โดยไม่ต้องมีพนักงานเข้ามามีส่วนร่วม ทำให้งานทั้งหมดเสร็จด้วยความรวดเร็วและถูกต้อง

รูปแบบการทำงานถัดมาเรียกว่า “partially automated” หรือ “partially unattended” ซึ่งจะแบ่งการทำงานกันโดยให้โรบอททำงานที่มีลักษณะซ้ำๆ มีกฎเกณฑ์ มีปริมาณมากซึ่งโรบอทจะทำได้ดีกว่าคน และเมื่อโรบอททำงานของตัวเองเสร็จแล้ว ก็ส่งต่อให้คนทำต่อในเรื่องที่ต้องมีการวิเคราะห์หรือตัดสินใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนทำได้ดีกว่า

รูป flow การทำงานด้านล่างแสดงการทำงานในลักษณะ partially automated ของกระบวนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์เช่นที่ดิน โรงงาน ซึ่งเริ่มจากพนักงานต้องคัดเลือกผู้ประเมินที่เหมาะสมมีประสบการณ์ กำหนดขอบเขตการประเมิน รวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบตามเงื่อนไข จากนั้นส่งต่อให้โรบอททำการคำนวนและประเมินมูลค่าสินทรัพย์แต่ละรายการ ซึ่งเดิมพนักงานเป็นผู้ทำและใช้เวลามาก อีกทั้งยังมีข้อผิดพลาดระหว่างทางเกิดขึ้น โดยมีการตั้งเงื่อนไขให้โรบอทแจ้งพนักงานให้ทราบเพื่อเข้ามาช่วยในกรณีที่เกิดปัญหา

รูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่างโรบอทกับคนแบบที่ 3 เรียกว่า “human in the loop” ซึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่ค่อนข้างซับซ้อนแต่จำเป็นเพื่อให้คนเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจเพื่อให้การทำงานสามารถคืบหน้าต่อไปได้

รูป flow การทำงานด้านล่างแสดงขั้นตอนของกระบวนการทำงานที่เราคุ้นเคยกันดีคือ invoice processing ซี่งถึงแม้จะมีการนำเทคโนโลยี OCR เข้ามาเป็นใช้อ่านข้อมูลจาก non-digital document ให้เป็น digital แล้วก็ยังต้องให้คนเข้ามาช่วยตรวจสอบความถูกต้องของค่าที่อ่านได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยด้วยกัน

เราเรียกรูปแบบถัดมาหรือรูปแบบที่ 4 ว่า “attended in tandem” หรือการทำงานคู่ขนานกันไปทั้งโรบอทและคน กรณีที่ชัดเจนของรูปแบบนี้คือการทำงานของเจ้าหน้าที่ call center ซึ่งในอดีตนั้น เจ้าหน้าที่ call center ที่กำลังพูดสายกับลูกค้าอยู่ต้องผละจากการสนทนาไปค้นหาข้อมูลเพื่อกลับมาชี้แจงหรือแก้ปัญหาให้ลูกค้า ทำให้ใช้เวลานานต่อการให้บริการลูกค้าแต่ละราย 

แต่จากตัวอย่าง flow การทำงานด้านบน เจ้าหน้าที่สามารถสนทนากับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องพร้อมกับออกคำสั่งให้โรบอท attended สืบค้นข้อมูลในระบบต่างๆที่เกี่ยวกับการให้บริการลูกค้า ทำให้กระบวนการทำงานโดยรวมมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาก นอกจาก call center แล้ว การทำงานระหว่างคนกับโรบอท attended ยังสามารถแยกย่อยออกไปได้อีกหลายแบบ เช่นแบบ event-driven ที่โรบอทสามารถเริ่มทำรายงานค่าใช้จ่ายทันที่ที่เราอัพเดทข้อมูลในระบบบัญชีแล้วเสร็จเป็นต้น

ตัวอย่างอีกลักษณะหนึ่งเรียกว่าแบบ “hybrid” ที่ได้เกริ่นไว้ช่วงแรกว่า เป็นการนำโรบอททั้งแบบ attended และ unattended เข้ามาทำงานร่วมกัน เช่น พนักงานขายเป็นผู้เริ่มสั่งให้โรบอท attended รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็น จากนั้นโรบอท attended ก็ส่งงานต่อให้โรบอท unattended ทำงานส่วนต่อไปที่ต้องมีการขอข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อใช้เตรียมเป็นรายงานสรุปยอดขายให้ผู้บริหาร

การที่เราทำความเข้าใจกับรูปแบบต่างๆของการทำงานระหว่างโรบอทกับคนจะช่วยให้เราสามารถประเมินความคุ้มค่าและวางแผนการลงทุนได้ดีขึ้น โดยเลือกชนิดของโรบอทที่เหมาะสมกับประเภทของงาน และยังสามารถสร้างความคาดหวังที่ถูกต้องกับผู้ใช้งานได้ เช่นงานบางอย่างสามารถทิ้งไว้ให้โรบอท unattended ทำงานตอนกลางคืนได้ แต่ถ้าเราเลือกใช้เฉพาะโรบอท attended อย่างเดียว งาน back office ที่มีปริมาณมากก็ยังต้องรอให้คนเข้ามาสั่งงานทุกครั้ง ทำให้ผลลัพท์เหมือนไม่ได้ช่วยประหยัดเวลาการทำงานได้มากพอ (ซึ่งถ้าเลือกใช้โรบอท unattended ตั้งแต่แรก อาจแสดงผลลัพท์หรือ ROI ที่น่าประทับใจกว่า)

การทำงานร่วมกันระหว่างคนกับโรบอทพิสูจน์ความจริงได้ข้อนึงครับว่า อย่างไรเสียคนก็จะไม่ถูกแทนที่ด้วยโรบอทอย่างที่หลายคนกังวล จริงอยู่เรามีลักษณะการทำงานแบบ fully automated ที่โรบอททำเองได้หมดตั้งแต่ต้นจนจบ แต่เราก็เห็นตัวอย่างหรือ use case อีกจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการที่คนกับโรบอททำงานร่วมกันโดยใช้จุดเด่นของแต่ละฝ่ายเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อกระบวนการทำงานนั้นๆ

เมื่อปี 2020 มีบทวิเคราะห์ของ IDC ที่ตีพิมพ์ผลสำรวจของงานที่พนักงานออฟฟิศใช้เวลามากและอยากให้โรบอทเข้ามาช่วยทำงาน เช่น การเข้าหน้าจอและส่งข้อมูลผ่านหลายแอปพลิเคชั่น (42%), การจัดการงานเอกสารและธุรการ (32%), การเตรียมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ (30%) โดยกว่า 70% ของพนักงานที่สำรวจพร้อมที่จะเปิดรับและเรียนรู้การทำงานร่วมกับโรบอท โดยยังมีพนักงานบางส่วนที่กังวลว่างานของตนเองจะหายไปหรือขนาดของทีมงานจะลดลงจากการเข้ามาของโรบอท

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากพูดถึงคือรอยต่อระหว่างการทำงานของคนกับโรบอทซึ่งเป็นตัวกำหนดความ smooth ของการทำงานร่วมกันว่าดีแค่ไหน ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ เจ้าของผลิตภัณฑ์หรือ software vendor ชั้นนำจะมีการนำเทคโนโลยี low-code เข้ามาใช้เพื่อสร้างฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นที่ใช้เป็นหน้าจอการทำงานร่วมกันเวลาส่งต่องาน (hand off) ระหว่างคนและโรบอทได้อย่างรวดเร็วสอดคล้องกับเวลาเฉลี่ยในการพัฒนาระบบ RPA

เราลองนึกภาพตามครับ ถ้าเราพัฒนาระบบ RPA แต่ละส่วนเสร็จแล้วแต่ยังต้องรอการเขียนหน้าจอเพื่อการทำงานร่วมกันซึ่งต้องมีการต่อเชื่อมหรือการทดสอบระบบ หรือถ้าไม่มีหน้าจออะไรเลยก็ต้องติดตามการทำงานด้วย excel และ email notification ซึ่งมีประสิทธิภาพน้อยกว่า

เรื่องนี้ถ้ามีโอกาสทางเราจะนำมาเขียนเป็นบทความอีกครั้งครับ

Sources:

  1. IDC Robot for Every Worker Survey 2020
  2. UiPath Inc