ปัจจุบันนี้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกพัฒนาให้เรียนรู้จากข้อมูลสาธารณะจำนวนมหาศาล การตอบสนองหรือการสร้างเนื้อหาของ Generative AI อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการโดยเฉพาะ ของแต่ละองค์กรอีกต่อไป (Tailormade) การพึ่งพาข้อมูล public เพียงอย่างเดียว อาจนำไปสู่การได้รับข้อมูลที่ไม่ตรงประเด็น หรือไม่ถูกต้องในบริบทของการดำเนินธุรกิจภายในแต่ละองค์กร
นี่คือจุดที่ UiPath Context Grounding ก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญ ด้วยการเปิดโอกาสให้องค์กรสามารถป้อนข้อมูลภายในของตนเองเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ Generative AI นำไปใช้เป็น “แหล่งข้อมูลอ้างอิง” (Source of Truth) ผ่านการควบคุมของระบบ UiPath AI Trust Layer อีกชั้นหนึ่ง โดยในการใช้งานจริงจะใช้เทคนิคที่เรียกว่า Retrieval-Augmented Generation (RAG) เพื่อให้ระบบดึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลเฉพาะขององค์กร แล้วส่งต่อให้ Generative AI นำไปใช้สร้างเนื้อหาที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ได้จาก Generative AI จะมีความเกี่ยวข้องกับบริบททางธุรกิจและมีความน่าเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง
ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจว่า UiPath Context Grounding และ UiPath AI Trust Layer สามารถช่วยยกระดับความแม่นยำและความน่าเชื่อถือของ Generative AI ได้อย่างไร
UiPath Context Grounding: ล้อมกรอบข้อมูลทางธุรกิจให้ Generative AI ในองค์กร
สถาปัตยกรรมของ UiPath Context Grounding (ตามภาพประกอบ) ถูกออกแบบมาเพื่อบูรณาการข้อมูลเฉพาะขององค์กรเข้ากับโมเดลภาษาขนาดใหญ่ (LLMs) ที่ใช้กับ Generative AI ผ่านกระบวนการที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง โดยเริ่มต้นจากการรวบรวมข้อมูลทางธุรกิจขององค์กร (Business Data) เพื่อนำมาแปลงเป็นเวกเตอร์ฝังตัว (Vector Embeddings) แล้วจัดเก็บไว้ในดัชนีของฐานข้อมูลเวกเตอร์ที่ UiPath บริหารจัดการให้ภายในแพลตฟอร์ม (UiPath Managed Vector Dbs) ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำไปใช้รองรับการทำงานของฟีเจอร์ RAG รวมถึงการรักษาความปลอดภัยและการเก็บรักษาข้อมูลที่มีความสำคัญ
สำหรับการใช้งานจริงนั้น UiPath Context Grounding จะทำหน้าที่ช่วย Generative AI กำหนดขอบเขตของเนื้อหาที่จะสร้างขึ้นมา โดยเริ่มต้นจากการวิเคราะห์คำถามหรือคำสั่งจากผู้ใช้งาน (User Prompt) แล้วใช้เทคนิคในการค้นหาขั้นสูง เช่น การค้นหาความเหมือนเชิงความหมาย (Semantic Similarity Search) และการค้นหาแบบผสมผสาน (Hybrid Search) รวมถึงเทคนิคอื่นๆ เพื่อค้นหาและจัดอันดับ Vector Embeddings ที่ถูกจัดเก็บอยู่ใน UiPath Managed Vector Dbs ให้ตรงกับข้อมูลที่ผู้ใช้งานต้องการมากที่สุด
โดยหัวใจสำคัญของสถาปัตยกรรมนี้คือ UiPath AI Trust Layer ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกระบวนการทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจว่า Generative AI จะสามารถเข้าถึงและประมวลผลข้อมูลที่ละเอียดอ่อนขององค์กรได้ตามมาตรฐานด้านความปลอดภัยของข้อมูล (Data Security) รวมไปถึงการปฏิบัติตามกฏระเบียบขององค์กร (Compliance) ได้อย่างเคร่งครัด
ส่วนเทคนิค RAG จะถูกนำมาใช้สำหรับการดึงข้อมูลทั้งหมดที่ UiPath Context Grounding ค้นหาไว้ให้ แล้วนำมาช่วยเสริมการสร้างเนื้อหาของ Generative AI ที่มีองค์ความรู้เดิมจาก LLMs ที่เคยถูกเทรนมาด้วยข้อมูลสาธารณะ เพื่อให้เนื้อหาที่สร้างขึ้นมาใหม่มีความแม่นยำและสอดคล้องกับบริบทที่ผู้ใช้งานต้องการมากที่สุด ในขณะที่ LLM Gateway จะทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างโมดูล RAG และ LLMs เพื่อให้การทำงานราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
UiPath AI Trust Layer: ป้อมปราการเพื่อคุ้มครองข้อมูลขององค์กรในยุค AI
UiPath AI Trust Layer มีบทบาทสำคัญในการปกป้องข้อมูลขององค์กรเมื่อมีการใช้งานฟีเจอร์ RAGร่วมกับความสามารถของ Generative AI และ LLMs เพราะเมื่อองค์กรนำข้อมูลภายในมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี AI การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลจะกลายเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เนื่องจากข้อมูลทางธุรกิจที่ละเอียดอ่อนต้องได้รับการปกป้องจากการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต
ด้วยเหตุนี้ UiPath AI Trust Layer จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าว โดยทำหน้าที่เป็นเสมือน “กำแพงป้องกัน” ที่คอยดูแลและรักษาความปลอดภัยให้กับข้อมูลขององค์กรในขณะที่ AI กำลังทำงานอยู่ โดยระบบจะควบคุมให้มีเฉพาะข้อมูลที่ได้รับการอนุญาตเท่านั้นที่จะถูกนำไปใช้ในกระบวนการดึงข้อมูลผ่านฟีเจอร์ RAG เพื่อสร้างสรรค์ผลลัพธ์จาก AI ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เป็นความลับจากการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาตได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ UiPath AI Trust Layer ยังช่วยให้องค์กรสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎระเบียบในอุตสาหกรรม (Industry Regulation) และนโยบายการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยควบคุมกระบวนการประมวลผลข้อมูลที่ถูกนำมาใช้งานอย่างละเอียดรอบคอบผ่านฟีเจอร์ย่อยต่างๆ ดังนี้
- Gen AI feature governance คือ ฟีเจอร์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานและองค์กรสามารถควบคุมและตรวจสอบการใช้งาน Generative AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย โดยเน้นเรื่องความโปร่งใส การปฏิบัติตามข้อกำหนด และการลดความเสี่ยงจากการใช้งาน AI ที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของข้อมูลหรือความน่าเชื่อถือ โดยฟีเจอร์หลักใน AI Trust Layer ที่เกี่ยวข้องกับ Gen AI governance ประกอบด้วย
- การจัดการการเข้าถึงการใช้งานโมเดลของ Generative AI หรือฟีเจอร์ AI ต่างๆ และควบคุมสิทธิ์ในการใช้งานตามบทบาทที่กำหนด (Role-Based Access Control)
- ระบบบันทึกการใช้งาน AI และรองรับการเก็บ log สำหรับตรวจสอบย้อนหลังได้ว่า AI ใช้ข้อมูลหรืออัลกอริทึมอะไรบ้าง เพื่อให้องค์กรสามารถตรวจสอบที่มาของข้อมูลและกระบวนการทำงานได้
- การตั้งค่านโยบายเพื่อจำกัดการใช้ AI ในบริบทที่อาจเสี่ยงต่อการละเมิดกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อบังคับด้าน AI เช่น GDPR, HIPAA, หรือกฎหมายเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างเข้มงวด
- การจัดการข้อมูลเพื่อความปลอดภัยด้วยการเข้ารหัสข้อมูล (Data Encryption) และการควบคุมข้อมูลที่ใช้ในการฝึกฝนโมเดล เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลสำคัญระหว่างการประมวลผลในระบบ AI
- การควบคุมคุณภาพของผลลัพธ์ โดยมีกระบวนการตรวจสอบและจัดการผลลัพธ์ที่สร้างจาก Generative AI เพื่อลดความผิดพลาดหรือผลลัพธ์ที่อาจมีอคติก่อนนำไปใช้งานจริง
- Usage auditing คือ ฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบการใช้งานโมเดล AI และฟีเจอร์ต่าง ๆ ในระบบ UiPath ได้อย่างโปร่งใสและละเอียด โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัย การปฏิบัติตามกฎระเบียบ และการจัดการทรัพยากร AI อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฟีเจอร์หลักใน AI Trust Layer ที่เกี่ยวข้องกับ Usage auditing ประกอบด้วย
- การติดตามกิจกรรมจากบันทึกข้อมูลการใช้งานโมเดลของ AI โดยแสดงให้เห็นข้อมูลที่นำเข้า, ข้อมูลที่ส่งออก และกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้รู้ว่าใครใช้งานฟีเจอร์ AI ใด, เมื่อใด และด้วยวัตถุประสงค์ใด
- การตรวจสอบที่มาของข้อมูล โดยสามารถระบุได้ว่าข้อมูลใดถูกนำมาใช้ในกระบวนการของ AI และข้อมูลนั้นถูกจัดการอย่างไรในระบบ เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจในความถูกต้องของกระบวนการและผลลัพธ์
- การบันทึกผลลัพธ์ที่ได้จากกระบวนการที่ใช้โมเดลของ AI เพื่อให้สามารถย้อนกลับมาตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้องของผลลัพธ์ในภายหลังได้ว่าผลลัพธ์นั้นเหมาะสมและไม่มีอคติ
- การจัดการการปฏิบัติตามกฎระเบียบ โดยมีบันทึกการใช้งาน AI เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดด้านกฎหมาย เช่น GDPR, CCPA และรองรับการสร้างรายงานสำหรับการตรวจสอบจากหน่วยงานภายนอก
- การตรวจสอบเหตุการณ์สำคัญ โดยระบุและบันทึกเหตุการณ์ที่อาจเป็นความเสี่ยง เช่น การใช้งาน AI ที่ผิดปกติ หรือการเข้าถึงที่ไม่ได้รับอนุญาต
- PII & Sensitive data filtering คือ ฟีเจอร์ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล (Personally Identifiable Information – PII) และข้อมูลที่มีความอ่อนไหว (Sensitive Data) ไม่ให้ถูกเปิดเผยหรือใช้งานอย่างไม่เหมาะสมในกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ AI หรือระบบอัตโนมัติ ฟีเจอร์นี้มีบทบาทสำคัญในการเสริมความปลอดภัยของข้อมูลและการปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ เช่น GDPR, CCPA หรือ HIPAA โดยฟีเจอร์หลักใน AI Trust Layer ที่เกี่ยวข้องกับ PII & Sensitive data filtering ประกอบด้วย
- การตรวจจับข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลอ่อนไหว โดยใช้เทคนิคการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) และการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (Natural Language Processing) เพื่อระบุข้อมูล PII เช่น ชื่อ, เบอร์โทรศัพท์, เลขประจำตัวประชาชน, ที่อยู่, อีเมล หรือข้อมูลที่มีความอ่อนไหว เช่น ข้อมูลทางการแพทย์, ข้อมูลทางการเงิน และข้อมูลความลับขององค์กร เป็นต้น
- การกรองและจัดการข้อมูลที่ตรวจพบเพื่อป้องกันไม่ให้ข้อมูลดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังโมเดล AI หรือผู้ใช้งาน โดยใช้เทคนิคการปรับเปลี่ยนข้อมูลเพื่อไม่ให้สามารถระบุตัวตนของข้อมูลต้นฉบับได้โดยตรง (Masking) เช่น เปลี่ยนตัวเลขในเบอร์โทรเป็น XXXX หรือการแทนค่าด้วย placeholder เป็นต้น
- การป้องกันข้อมูล PII และข้อมูลอ่อนไหวจากการใช้งานร่วมกันหรือการนำไปใช้งานในบริบทที่ไม่เหมาะสม เช่น การส่งข้อมูลออกไปยังระบบภายนอกองค์กร
- การปรับแต่งกฎการกรองข้อมูล โดยผู้ใช้งาน AI สามารถกำหนดนโยบายและกฎเฉพาะขององค์กรสำหรับการจัดการข้อมูล PII และข้อมูลอ่อนไหวได้เอง เช่น การกำหนดรูปแบบข้อมูลที่ต้องการกรอง เป็นต้น
- การบันทึก log ของการจัดการข้อมูล PII และข้อมูลอ่อนไหว เพื่อให้สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ รวมทั้งการสร้างรายงานสำหรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบและการประเมินความเสี่ยง
จากทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า UiPath AI Trust Layer ไม่เพียงแต่สร้างขอบเขตความปลอดภัยในการใช้งาน Generative AI ภายในองค์กรเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างการกำกับดูแลข้อมูล (Data Governance) ทำให้ข้อมูลที่สำคัญขององค์กรยังคงปลอดภัยและเป็นความลับ โดยที่ระบบ AI ยังสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาที่ชาญฉลาดและมีประโยชน์จากข้อมูลเหล่านั้นได้ นอกจากนี้ UiPath Context Grounding ยังมอบข้อมูลเชิงลึกที่มีความแม่นยำและน่าเชื่อถือเพื่อให้องค์นำไปใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจได้อย่างมั่นใจในสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัยสูงอีกด้วย
ที่ Automat Consulting เรามี lab ทำเรื่องนี้ และมีโอกาสคงได้มาแชร์ use case ต่างๆ ของเทคนิคนี้ด้วยกันในอนาคตอันใกล้ครับ