โอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยเทคโนโลยี RPA สำหรับธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งยานยนต์
การนำเทคโนโลยีที่เรียกว่า Robotic Process Automation (RPA) มาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กร มีความร้อนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมากในระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ เราได้เห็นการขยายตัวทางธุรกิจของบริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์ RPA เพิ่มขึ้นแทบทุกส่วนของโลก รวมถึงการไอพีโอของเจ้าตลาดอย่าง UiPath ในเดือนเมษายน 2564 ซึ่งทำให้บริษัทมีมูลค่าทางการตลาดสูงกว่า 35 พันล้านเหรียญสหรัฐเมื่อปิดตลาดวันแรก แล้วในแง่ของซอฟท์แวร์เอง RPA เหมาะกับใครบ้าง?
ถ้าเรามองว่า RPA เหมาะสมเป็นอย่างมากกับรูปแบบกระบวนการทำงานที่อย่างน้อยต้องมี มีปริมาณธุรกรรมสูง (High Volume) มีลักษณะการทำซ้ำสูง (Repetitive) และควรมีกฎเกณฑ์ที่กำหนดอย่างแน่นอน (Rule-Based) เพื่อให้หุ่นยนต์หรือบอตเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อนเหมือนเวลาที่เราสั่งงานลูกน้องหรือขอความช่วยเหลือให้ใครทำอะไรให้ ธุรกิจสินเชื่อและเช่าซื้อก็เป็นอีกกลุ่มที่น่าสนใจ
ตลาดของผู้ประกอบการสินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์ หรือกลุ่มลีสซิ่งจัดเป็นเซ็กเมนท์ทางธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เซ็กเมนท์หนึ่งในบ้านเรา โดยคลอบคลุมธุรกิจเช่าซื้อเพื่อที่จะเป็นเจ้าของเมื่อชำระงวดครบ ธุรกิจลีสซิ่งที่ผู้เช่าจะส่งมอบยานยนต์กลับคืนสู่ผู้ให้เช่าเมื่อครบสัญญา และธุรกิจสินเชื่อที่ใช้ยานยนต์เป็นหลักประกันในการกู้เงินหรือที่เรียกว่าการจำนำทะเบียน ทั้งนี้ยานยนต์ที่ว่าก็มีตั้งแต่ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รวมทั้งรถเช่าในองค์กร ข้อมุลจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ณ ไตรมาส 3 ปี 2562 สินเชื่อเช่าซื้อยานยนต์มีมูลค่า 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.0% ของยอดคงค้างสินเชื่ออุปโภคบริโภคของระบบธนาคารพาณิชย์
ในแง่ผู้ประกอบการ เราสามารถแบ่งประเภทของผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆด้วยกันคือ (1) สถาบันการเงิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และธุรกิจในเครือธนาคาร ถือเป็นสัดส่วนที่มีมากที่สุด (2) ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทสินเชื่อเช่าซื้อของค่ายรถยนต์ และ (3) กลุ่มน็อนแบงค์ เมื่อมองลึกเข้าไปถึงลักษณะของกระบวนการทำงานและโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ธุรกิจนี้ มีปริมาณธุรกรรมสูง (High Volume) ตามจำนวนยานยนตร์และจำนวนลูกค้า มีลักษณะการทำซ้ำ (Repetitive) ของกระบวนการอย่างการเปิดหรือปิดแต่ละสัญญาหรือการตรวจสอบยอดชำระเงินจากลูกค้า กฎเกณฑ์ที่กำหนดได้ (Rule-Based) เพื่อให้บอตทำงานได้ตามที่ออกแบบ ในขณะที่การทำงานด้วยข้อมูลที่เป็นรูปแบบดิจิตอลอาจแตกต่างกันในแต่ละบริษัท บางบริษัทอาจมีความพร้อมอยู่แล้ว ในขณะที่บางบริษัทต้องมีการปรับกระบวนการเตรียมข้อมูลให้เป็นแบบดิจิตัลก่อน ถึงค่อยใช้บอตทำงานได้
Fleet Innovation Oy เป็นบริษัทในประเทศฟินแลนด์ที่ให้บริการรถเช่าเพื่อใช้งานองค์กร ควบคู่ไปกับบริการอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ จัดเป็นหนึ่งในบริษัทที่เห็นถึงโอกาสของการปรับปรุงระบบการทำงานของตนเอง โดยใช้ซอฟท์แวร์ RPA ของบริษัท UiPath เข้ามาแก้ปัญหาของแผนกบัญชีที่พนักงานต้องใช้เวลาจำนวนมากไปกับการจัดการกับใบแจ้งหนี้ที่เพิ่มจำนวนขึ้นตามการเติบโตของบริษัท ก่อให้เกิดความท้าทายแก่การบริหารระบบงานที่ต้องใช้เวลาของพนักงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนถึงปัจจุบัน Fleet Innovation Oy ใช้บอตจัดการกับ 45% ของปริมาณใบแจ้งหนี้ที่มีอยู่ราว 6,000 ใบในแต่ละเดือน ผ่านกระบวนการที่พัฒนาให้เป็นระบบอัตโนมัติ (Invoice Automation) ทำให้เวลาของพนักงานที่เดิมหมดไปกับการรับและบันทึกข้อมูลเข้าระบบและตรวจสอบความถูกต้องก่อนการจ่ายเงิน ถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กว่า อย่างการติดต่อหรือให้บริการลูกค้า ซึ่งเป็นจุดแข็งซึ่งสร้างความแตกต่างให้กับบริการของบริษัท
ในประเทศไทยเอง ก็ได้มีการนำเทคโนโลยี RPA เข้ามาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานของบริษัทในธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งยานยนต์ด้วยเหมือนกัน เช่น บริษัทซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของไทย ใช้ซอฟท์แวร์ RPA ของบริษัท UiPath มาพัฒนาระบบตรวจสอบการชำระเงินค่างวดของลูกค้าผ่านช่องทางธนาคารอิเลคโทรนิคและบันทึกรายการเพื่อตัดหนี้ในระบบบัญชี ประหยัดเวลาการทำงานลงได้มาก ทั้งจากการที่ไม่ต้องไปตรวจสอบความถูกต้องของงาน และการที่ Bot ทำการบันทึกข้อมูลได้เร็วกว่าคนมาก อีกตัวอย่างหนึ่ง บริษัทผู้ประกอบการเช่าซื้อรถยนต์ของค่ายรถรายใหญ่ของประเทศ นำซอฟท์แวร์ RPA ของบริษัท UiPath อีกเหมือนกัน มาใช้บันทึกข้อมูลธุรกรรมที่ต้องทำเป็นปริมาณมากกว่าช่วงปกติเนื่องจากบริษัทอยู่ในระหว่างการย้ายระบบแอพพลิเคชั่น จึงต้องระดมพนักงานมาเร่งทำงานนอกเวลา เนื่องจากมีกรอบเวลาที่ไม่สามารถล่าช้าได้ ส่วนประโยชน์ในเรื่องอื่น RPA ยังถูกใช้ในการจัดทำรายงานสรุปยอดรายวันของรถยนต์ที่จะถูกนำออกขายทอดตลาด ซึ่งบอตสามารถเริ่มบันทึกข้อมูลได้ทันทีเมื่อปิดบัญชีและจัดทำรายงานอย่างรวดเร็ว
นอกเหนือจากตัวอย่างข้างต้นแล้ว เรายังสามารถนำระบบ RPA มาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานอื่นๆสำหรับธุรกิจเช่าซื้อและลิสซิ่งได้อีก เข่น
- (Customer Onboarding and Account Setup) การเปิดบัญชีลูกค้ารายใหม่ทั้งแบบบุคคลและแบบองค์กรสามารถเกิดได้หลากหลายช่องทางที่ลูกค้าสามารถส่งใบสมัครพร้อมแนบหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาที่บริษัท เพื่อการนำข้อมูลเข้าระบบและส่งต่อไปยังส่วนงานอื่นๆ กระบวนการทำงานเหล่านี้สามารถแปลงเป็นระบบดิจิตัลได้ และมีรูปแบบที่สามารถจัดการได้รวดเร็วผ่านกระบวนการของ RPA
- การปิดสัญญาเช่าซื้อ (Client & Account Closure) ซึ่งต้องมีการตรวจสอบสถานะของสัญญา ยอดคงเหลือ เตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้อง พิมพ์ และจัดส่งให้ลูกค้า ซึ่งบอตสามารถทำธุรกรรมเหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วตามที่โปรแกรมไว้
- (New Businesses Initiative) การใช้ RPA สำหรับองค์กรประเภท Financial Service ถือเป็นรากฐานของการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและคืนชั่วโมงการทำงานของพนักงานกลับสู่องค์กร เปิดโอกาสให้เกิดบริการใหม่ๆขึ้นอย่าง การขอสินเชื่อและทราบผลการอนุมัติที่รวดเร็วผ่านธุรกรรมออนไลน์ การเพิ่มบริการบำรุงรักษาเพื่อลดโอกาสการเกิดอุบัติเหตุแก่ลูกค้าลิสซิ่งยานยนต์ระยะยาว รวมถึงการให้บริการรูปแบบใหม่ที่มีใช้แล้วในต่างประเทศอย่าง car sharing หรือ vehicle as-a-service สำหรับลูกค้าที่ไม่อยากได้ความเป็นเจ้าของ (แต่ก็ยังมีธุรกรรมที่วิ่งผ่านและต้องจัดการเป็นจำนวนมาก)
แม้แต่ในสถานะการณ์ปัจจุบันที่ประเทศยังคงประสบปัญหาการะบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธุรกิจเช่าซื้อสำหรับรถใหม่อาจชะลอตัวลงแต่ธุรกิจสินเชื่อที่ใช้ยานยนต์เป็นหลักประกันยังเป็นที่ต้องการและมีปริมาณธุรกรรมที่ต้องจัดการเป็นจำนวนมากอยู่ และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประกาศแนวทางการช่วยเหลือลูกหนี้เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ด้วยการให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (non-bank) พักหนี้ให้ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างน้อย 2 เดือน ก็ทำให้บริษัทผู้ประกอบการต้องมีหน้าที่ปรับปรุงระบบข้อมูลของลูกหนี้ให้สอดคล้องกับนโยบายนี้เพิ่มขึ้นมาด้วย
ธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่งยานยนต์จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีความน่าสนใจและสามารถคาดหวังประโยชน์จากการนำระบบซอฟท์แวร์ RPAเข้ามาใช้ในองค์กร